วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2552

ดอกบัวจากหัวใจ


สวัสดีครับ
หลาย ๆ ท่าน คงจะเคยได้เห็นรูป ๆ หนึ่ง ที่กระทบกับจิตใจของคนที่ได้เห็นอย่างมาก หญิงชราคนหนึ่ง ถวายความเคารพต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา พร้อมกับดอกบัวเหี่ยว ๆ สองสามดอก ที่เก็บมากับมือ ซื่งตอนที่เก็บนั้น คงจะสวยงามจริง ๆ แต่ด้วยระยะเวลาความร้อน ทำให้ดอกบัวนั้นเหี่ยวเฉาลง นี่เป็นบันทึกหนึ่ง ที่อยากให้หลาย ๆ ท่านได้รู้ถึงที่มาของภาพนี้ครับ



ที่นครพนม บนเส้นทางรับเสด็จตรงสามแยกชยางกูร - เรณูนคร บ่ายวันที่ 13 พ.ย. 2498 นาย อาณัติ บุนนาค หัวหน้าส่วนช่างภาพประจำพระองค์ ได้บันทึกภาพในวินาทีสำคัญ ที่กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ภาพหนึ่งของประเทศ ภาพที่พูดได้มากกว่าคำพูดนับล้านคำ

วันนั้นหลังจากทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เสร็จสิ้นในช่วงเช้าแล้ว ทั้ง 2 พระองค์ ได้เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง กลับไปประทับแรม ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ราษฎรที่รู้ข่าวก็พากันอุ้มลูก จูงหลานหอบกันมารับเสด็จที่ริมถนนอย่างเนืองแน่น ดังเช่นครอบครัวจันท์นิตย์ ที่ลูกหลานช่วยกันนำ แม่ตุ้ม จันทนิตย์ วัย 102 ปี ไปรอรับเสด็จ ณ จุดรับเสด็จห่างจากบ้าน 700 เมตร โดยลูกหลานได้จัดหาดอกบัวสายสีชมพู ให้แม่เฒ่าจำนวน 3 ดอก และพาออกไปรอที่แถวหน้าสุดเพื่อให้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทที่สุด

เปลว แดดร้อนแรงตั้งแต่เช้าจนสาย เที่ยงจนบ่าย แผดเผาจนดอกบัวสายในมือเหี่ยวโรย แต่หัวใจรักภักดีของหญิงชรายังเบิกบาน เมื่อเสด็จฯ มาถึงตรงหน้า แม่เฒ่าได้ยกดอกบัวสายโรยราสามดอกนั้น ขึ้นจบเหนือศีรษะแสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง

พระ เจ้าแผ่นดินทรงโน้มพระองค์อย่างต่ำที่สุด จนพระพักตร์แนบชิดกับศีรษะของแม่เฒ่า ทรงแย้มพระสรวลอย่างเอ็นดู พระหัตถ์แตะมือกร้านคล้ำของหญิงชราชาวอีสานอย่างอ่อนโยน

ไม่ต้องมีคำบรรยาย สำหรับภาพที่ไม่จำเป็นต้องบรรยาย ไม่มีใครรู้ว่าท่านทรงกระซิบคำใดกับแม่เฒ่า แต่แน่นอนว่าแม่เฒ่าไม่มีวันลืม
เช่นเดียวกับที่ ในหลวงไม่ทรงลืมราษฎรคนสำคัญที่ทรงพบริมถนนวันนั้น หลานและเหลนของแม่เฒ่าเล่าว่า

" หลัง จากเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ แล้ว ทางสำนักพระราชวัง ได้ส่งภาพรับเสด็จของแม่เฒ่าตุ้ม พร้อมทั้งพระบรมรูปหล่อด้วยปูนพลาสเตอร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานผ่านมาทางอำเภอพระธาตุพนม ให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึก "

พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้ มีส่วนชุบชูชีวิตให้แม่เฒ่ายืนยาวขึ้นอีก ด้วยความสุขต่อมาอีกถึงสามปีเต็ม ๆ
แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ ราษฎรผู้โชคดีที่สุดคนหนึ่งในรัชกาลที่ 9 สิ้นอายุขัยอย่างสงบด้วยโรคชราเมื่ออายุได้ 105 ปี

ข้อมูลจาก " แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ " ภาคพิเศษโดย คุณหญิงศรีนาถ สุริยะ วารสารไทย

ไม่มีความคิดเห็น: